โรคภัยไข้เจ็บสมัยนี้ต้องบอกว่าความน่ากลัวแบบไม่รู้ตัวมาก่อนนี่แหละเป็นความน่ากลัวของจริง บางโรคเราเห็นว่ามีอาการอย่างไรก็สามารถรักษาไปได้ แต่บางโรคเราไม่รู้เลยว่าเป็น กว่าจะรู้ตัวก็เป็นหนักหรือเกิดอาการจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อกันแล้ว โรคกระดูกพรุนเองก็เช่นกัน เป็นภัยเงียบที่จัดอยู่ในนี้ด้วย เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันหน่อย
กระดูกพรุนคืออะไร
โรคกระดูกพรุน ก็ตามชื่อเลย เกิดจากกระดูกของเรามีมวลกระดูกน้อยลงมาก จนทำให้กระดูกนั้นกลวง เปราะหักง่าย แบบที่เราไม่รู้ตัวเลย ความน่ากลัวที่สุดของโรคนี้ก็คือ เราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าเป็นโรคนี้อยู่ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุกับตัวเองอย่างกระดูกหัก แล้วไปสแกนกระดูกแล้วเห็น วิธีการแก้ไขนอกจากจะหมั่นตรวจสอบมวลกระดูกในกรณีที่เราอายุถึงเกณฑ์ ก็คือการหมั่นรับประทานอาหารเสริมที่จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกที่สูญเสียไป
นมชนิดพิเศษ
อาหารเสริมสำหรับโรคกระดูกพรุนอย่างแรก เราขอแนะนำของที่กินง่ายหาง่าย นั่นคือ นมชนิดพิเศษ นมชนิดนี้จะแตกต่างจากนมเปรี้ยว หรือ นมจืดทั่วไป เนื่องจากนมกลุ่มนี้จะเพิ่มเติมโปรตีนเข้าไปแบบเข้มข้นกว่าเดิม เพื่อให้เราได้รับโปรตีน และ แคลเซียม อย่างเต็มที่และมากกว่าปกติ ร่างกายได้รับสองอย่างนี้เข้าไปจะเสริมมวลกระดูกที่สึกหรอไปได้ กินง่ายอีกต่างหาก มีทั้งแบบกล่อง และแบบชง รสจืดก็มี รสช็อคโกแลตก็มีนะ
เม็ดวิตามินรวม
นอกจากนม ยังมีอาหารเสริมรูปแบบอื่นด้วย เม็ดวิตามินรวมก็เป็นหนึ่งในนั้น อาหารเสริมแบบเม็ดมีขายทั่วไปตามท้องตลาด หากผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะกินจริง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแคลเซียม โปรตีน เอาไว้ก่อน เพื่อนำไปเสริมมวลกระดูก หรือหากต้องการวิตามินเสริม ควรเน้นไปที่วิตามินดี เนื่องจากวิตามินตัวนี้จะทำงานประสานกับแมกนีเซียมช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมจากอาหารทำได้ดีมากขึ้น
แคลเซียมแบบเม็ด
ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบางราย อาจจะไม่ชอบการดื่มนม (รู้สึกเลี่ยน ไม่ได้กินนานแล้วจึงไม่ชิน) ทางออกที่ดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเลือกรับประทานแคลเซียมแบบเม็ด ปัจจุบันอาหารเสริมแคลเซียมแบบเม็ดมีหลายแบบ แต่เราขอแนะนำว่าให้เลือกรับประทานแบบเม็ดฟู่ละลายน้ำ รสชาติจะดีกว่า แถมยังดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าด้วย
การรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องสำหรับผู้ป่วยในวัยหลังเกษียณเนื่องจากวัยนี้กระดูกถูกใช้มาอย่างยาวนานตลอดชีวิต จึงไม่แปลกที่กระดูกจะพรุน ยิ่งเป็นสตรีที่ผ่านการมีบุตรแคลเซียมยิ่งหายไปเยอะจากการตั้งครรภ์ ดังนั้นควรหมั่นไปตรวจมวลกระดูกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหาอาหารเสริมมารับประทานคู่กันด้วยจะดีมาก